ขาดทุนไม่อั้น ขอแค่ฉันได้เป็นเศรษฐี – ตอนที่ 116 คลิปใหม่ ‘ผลงานเทพสร้าง’!

ผ่านไปชั่วโมงกว่าๆ เฉียวเหลียงก็เล่นเกมจบไปหนึ่งรอบ

เห็นได้ชัดว่าเกมนี้อยากให้ผู้เล่นเล่นซ้ำหลายรอบ หลังจากเล่นจบหนึ่งรอบ ผู้เล่นจะถูกส่งกลับไปที่ห้องแรกและเริ่มต้นเกมใหม่อีกครั้ง

แตกต่างตรงที่เมื่อเริ่มเล่นรอบที่สอง ผู้เล่นจะมีเงินทุนเริ่มต้นตามการเล่นรอบที่แล้ว

ในเกมบางประเภทอย่างแนว MMORPG ที่ต้องการทุนสร้างสูง ถ้าเพิ่งเริ่มเล่นแล้วพยายามเลือกสร้างเกมแนวนี้จะมีโอกาสสำเร็จอยู่ที่ศูนย์เพราะขาดเงินทุน เว้นเสียแต่ว่าจะตอบตัวเลือกถูกทุกข้อ

แต่เมื่อเริ่มเล่นรอบที่สองพร้อมกับเงินทุนตั้งตน โอกาสสร้างเกมฟอร์มใหญ่สำเร็จก็จะเพิ่มขึ้น

เฉียวเหลียงไม่ได้เริ่มเล่นรอบที่สองทันที เขาจมดิ่งอยู่ในภวังค์ความคิด

เกมนี้…ค่อนข้างพิเศษ!

เป็นความรู้สึกที่ยากจะอธิบาย

เฉียวเหลียงตะลึงไปตั้งแต่ตอนเริ่มเกม เกมนี้ผิดจากแนวคิดอันคุ้นชินของเขาจนต้องโยนความรู้เกี่ยวกับเกมที่มีทิ้งไปหมด

เกมนี้ชื่อว่าเกมนักออกแบบเกม เนื้อหาเกมก็ตามชื่อเลย ผู้เล่นจะได้รับบทบาทเป็นนักออกแบบเกมและได้สร้างเกมที่จะโดนตลาดประเมินในตอนจบ

ตอนเริ่มเกมไม่ค่อยมีอะไรโดดเด่นน่าสนใจจนเฉียวเหลียงคิดอยากจะเลิกเล่น

ถึงจะใช้ได้ทั้งเมาส์และจอยเกม แต่ผู้เล่นก็ทำได้แค่เดินไปเรื่อยๆ กับเปลี่ยนมุมมอง ทั้งเกมมีแค่วิ่งไปรอบๆ ขนาดประตูยังเปิดให้อัตโนมัติ ไม่จำเป็นต้องกดปุ่มอะไรเพื่อเปิด ไม่ต้องหวังเลยว่าจะมีโหมดต่อสู้

หลังจากเข้าไปในห้องและเลือกประตูก็จะเข้าสู่ช่วงต่อไปของเกม

ถ้าไม่ใช่เพราะสไตล์ภาพที่โดดเด่นและฉากต่างๆ ในห้องที่ทำออกมาได้อย่างดีเยี่ยม อาจารย์เฉียวคงจะเลิกเล่นไปตั้งแต่ช่วงแรกแล้ว

สิ่งหนึ่งที่น่าหงุดหงิดมากคือเสียงพากย์

ตอนแรกเฉียวเหลียงคิดว่าจะมีเสียงพากย์แค่ช่วงปูภูมิหลังของเกม แต่พอเล่นต่อไปก็พบว่าเสียงพากย์เป็นผีตามติด คอยส่งสัญญาณบอกการมีอยู่ของมันอยู่ตลอด

กวนประสาทตลอด ไม่หุบปากเลยโว้ย!

ทุกครั้งที่เข้าไปในห้องแล้วต้องเลือกตัวเลือก เสียงพากย์ก็จะให้คำแนะนำด้วยน้ำเสียงยั่วยุกวนบาทา

เช่น ตอนที่ต้องเลือกระหว่างตั้งเพดานค่าใช้จ่ายสูงกับตั้งเพดานค่าใช้จ่ายต่ำ เสียงพากย์ก็จะพยายามอย่างเต็มที่ในการล่อลวงให้ผู้เล่นเลือกตั้งเพดานค่าใช้จ่ายสูง

ที่แย่ที่สุดคือเสียงพากย์น่าจะเป็นผู้จัดการฝึกหัดมืออาชีพเพราะด่าเก่งเหลือเกิน!

ถ้าไม่เลือกตามที่เสียงพากย์แนะนำก็จะโดนด่า

ถ้าเลือกทำตามแล้วพลาดก็โดนด่าเหมือนเดิม

สรุปคือเสียงพากย์ทำหน้าที่ยัดเยียดความคิดผิดๆ ให้ จากนั้นก็โจมตีทำลายความมั่นใจของผู้เล่น คำพูดคำจาแต่ละอย่างร้ายกาจเสียจนอยากจะวิ่งไปกระทืบ

มีหลายครั้งที่เฉียวเหลียงหงุดหงิดมากเสียจนอยากมุดจอไปลากตัวไอ้เสียงพากย์เวรนี่ออกมาอัดให้น่วม

เฉียวเหลียงงงมากว่าจะมีเสียงพากย์ไปทำไม

มีไว้กวนประสาทผู้เล่นเหรอ ไม่เห็นจะเข้าท่าเลย!

สับสนปนหงุดหงิด สองอย่างนี้คือความประทับใจแรกหลังจากได้ลองเล่นเกม

แต่พอเล่นไปเรื่อยๆ อาจารย์เฉียวก็รู้ต่างออกไป

เขาพบว่าเจ้าเสียงพากย์สุดกวนนี่คือแก่นหลักที่ซ่อนอยู่ของเกม!

ถ้าตั้งใจไม่เลือกตามที่เสียงพากย์แนะนำ เสียงพากย์ก็จะมีการตอบสนองเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

เริ่มแรกเสียงพากย์จะดูเหมือนไม่ได้สนใจและแสร้งทำเป็นไม่รู้อะไร

จากนั้นเสียงพากย์จะค่อยๆ ทำตัวน่าหงุดหงิดขึ้นเรื่อยๆ เริ่มบอกผู้เล่นว่าถ้าไม่ฟังจะเกิดอะไรขึ้น

จากนั้นก็จะทำตัวเกรี้ยวกราดขึ้น เริ่มใช้ถ้อยคำดุดันรุนแรง ปล่อยทุกอย่างที่มีใส่ไม่ยั้ง

หลังจากพ่นไฟใส่ไม่หยุดก็จะจบที่ระเบิดลง

สุดท้ายเสียงพากย์ก็จะเข้าสู่ช่วงยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น แล้วบอกผู้เล่นว่าแกมันไร้ประโยชน์พร้อมแสดงท่าทีประมาณว่า ‘ฉันจะจับตาดูแกเงียบๆ ว่าจะทำอะไรได้อีก’

เสียงพากย์จะตอบสนองแตกต่างกันไปในฉากจบแต่ละแบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก

ถ้าผู้เล่นทำตามที่แนะนำแล้วผลลัพธ์ออกมาไม่ดี เสียงพากย์ก็จะตอกย้ำอย่างเลือดเย็น มันจะด่าผู้เล่นว่าเป็นพวกหูเบาเชื่อคนง่าย ไม่มีความคิดเป็นของตนเอง สมแล้วที่ไม่ประสบความสำเร็จ

ถ้าผู้เล่นไม่ทำตามที่แนะนำแล้วผลลัพธ์ออกมาไม่ดี เสียงพากย์ก็จะด่าซ้ำเหมือนเดิม โดยจะบอกว่าถ้าฟังตามที่พูดก็ไม่พลาดแบบนี้หรอก สมควรแล้ว

ถ้าผู้เล่นไม่ทำตามที่แนะนำแล้วผลลัพธ์ออกมาดี เสียงพากย์ก็จะยืนกรานว่าถ้าฟังตามที่มันแนะนำคงจะประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่กว่านี้ไปแล้ว!

ถึงจะยังพูดจาประชดประชันอยู่ แต่พอผู้เล่นประสบความสำเร็จ น้ำเสียงของเจ้าเสียงพากย์จะฟังดูขุ่นเคือง น่าสนใจเลยทีเดียว

เฉียวเหลียงเริ่มนึกสนใจคนพากย์เสียงและสงสัยว่าพากย์แบบนี้ได้ยังไง เขาพากย์เสียงออกมาได้ดีมาก แถมยังรู้ความแตกต่างระหว่างอารมณ์แต่ละแบบด้วย!

ระหว่างที่โดนเสียงพากย์ด่าทออยู่ เฉียวเหลียงก็พบจุดที่น่าสนใจหลายจุดของเกมนี้

พอดูดีๆ สไตล์ภาพของเกมนี้ไม่ใช่แค่ ‘ดี’ แต่เป็น ‘ดีมากๆ’!

ภาพแต่ละฉากช่วยเสริมสร้างบรรยากาศให้เกมได้ดีมากๆ พอเอาไปรวมกับเพลงและเสียงประกอบที่ลงตัวก็ทำให้ฉากดูสมจริงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นห้องเล็กหรือห้องใหญ่

สไตล์ภาพที่เป็นเอกลักษณ์ทำให้งานภาพของเกมโดดเด่นและมีระดับมาก

ตั้งแต่การเล่นรอบที่สองเป็นต้นไป พอได้ลองเลือกตัวเลือกแบบต่างๆ ดู เฉียวเหลียงก็ไปถึงฉากจบแต่ละแบบ ซึ่งก็ทำให้เขารู้สึกประหลาดใจสุดๆ!

 รอบแรก เขาเลือกตั้งเพดานค่าใช้จ่ายสูงตามที่เสียงพากย์แนะนำ ทำให้เกมที่ได้มีชื่อเสียงไปในทางลบ ถึงจะทำเงินได้ แต่เกมก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะอยู่รอดในตลาดได้นาน เสียงพากย์จึงใช้จุดนี้มาด่า

รอบที่สอง เฉียวเหลียงเอาใจผู้เล่นด้วยการเลือกใช้วิธีที่เป็นมิตรและไม่แพงสำหรับผู้เล่น สุดท้ายเกมก็ทำเงินได้ไม่พอเพราะผู้เล่นเสียเงินให้เกมน้อยเกินไป ทำให้ไม่สามารถหาเงินทุนคืนได้ เลยโดนเสียงพากย์เยาะเย้ยเข้าอีกครั้ง

รอบที่สาม เฉียวเหลียงทำตามที่เสียงพากย์บอกทุกอย่าง ครั้งนี้แย่กว่าเก่า และเสียงพากย์ก็ด่าเขาเละ

เฉียงเหลียงโกรธจัดจนแทบอยากจะปาจอยเกมทิ้ง

นี่มันบ้าอะไรกัน!

ทำไมทุกตัวเลือกถึงพาไปเจอตอนจบที่แย่หมดเลยล่ะ เกมนี้มันเล่นได้จริงหรือเปล่าเนี่ย

แต่หลังจากพบกับความล้มเหลวซ้ำๆ เฉียวเหลียงก็ได้เรียนรู้แก่นแท้ของเกม

ผู้เล่นได้รับบทบาทเป็นนักออกแบบเกม สิ่งที่เฉียวเหลียงได้สัมผัสก็คือชีวิตของนักออกแบบเกมจริงๆ ไม่ใช่เหรอ

เสียงพากย์ที่แสนน่ารำคาญก็เป็นเหมือนความโลภภายในใจ หรืออาจจะเป็นพวกนักเลงคีย์บอร์ด ไม่ก็พวกคนนอก

มีบางครั้งที่เสียงพากย์แนะนำสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม แต่บางครั้งก็แนะนำสิ่งที่ผิดมหันต์

ในฐานะนักออกแบบเกม ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะไม่เจอขวากหนามขวางทาง

ถ้าไม่มีความคิดเป็นของตัวเองก็ย่อมพบกับความล้มเหลว

ถ้าทำตามความคิดของตัวเอง ไม่ฟังคำแนะนำจากคนอื่น ก็จบที่ล้มเหลวเช่นกัน

ความสำเร็จนั้นมาจากการฟังคำแนะนำ วิเคราะห์และไตร่ตรองอย่างละเอียดรอบคอบ และตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดหลายครั้งหลายหนต่างหาก!

จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่นักออกแบบเกม… แต่โปรดิวเซอร์และผู้พัฒนาสื่อบันเทิงเองก็เป็นเหมือนกันหมด

ผู้รังสรรค์ผลงานหลายคนต้องฟันฝ่าไปตามเส้นทางที่เลือกมาอย่างโดดเดี่ยวและยากลำบาก แต่ความสำเร็จที่ปลายทางนั้นหอมหวานยิ่งนัก!

เฉียวเหลียงน้ำตารื้นขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว

เพราะเขาเองก็เป็นนักสร้างคอนเทนต์

การทำคลิปและการสร้างเกมต่างก็เป็นผลผลิตที่เรียกว่าสื่อบันเทิง เป็นเรื่องที่เหมือนกันในด้านแง่คิด!

เฉียวเหลียงอดไม่ได้ที่จะนึกถึงประสบการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมา

เขาทุ่มเททั้งกายและใจสร้างคลิปขึ้นมาหนึ่งคลิป แต่กลับไม่มีใครสนใจ

เพื่อให้มีชีวิตรอดต่อไป เขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากรับสปอนเซอร์และโดนผู้ติดตามด่าจนไม่กล้าโผล่หน้าออกไปไหนอยู่หลายวัน

ทุกครั้งที่ผู้ติดตามส่งข้อความยาวเหยียดเข้าช่องแชตส่วนตัวเพื่อบอกว่าผิดหวังในตัวเขาแค่ไหน เฉียวเหลียงก็รู้สึกเศร้าใจไม่น้อย

แต่ไม่นานก็เริ่มชิน เพราะไม่มีอะไรที่ยั่งยืนไปตลอด เขาทำได้แค่ต้อนรับผู้ติดตามกลุ่มใหม่ พยายามทำตัวให้ดีเหมือนเดิมกับผู้ติดตามกลุ่มเดิม ส่วนใครที่เลิกติดตามไปแล้ว เฉียวเหลียงก็ได้แต่หวังให้คนเหล่านั้นพบเจอสิ่งดีๆ

ไม่แน่อาจเพราะบังเอิญเลือกถูกเกม คลิปเลยดังเป็นพลุแตก อาจดูเหมือนว่าโชคช่วย แต่จริงๆ แล้วมาจากประสบการณ์การทำงานที่สั่งสมมาต่างหาก

เกมนักออกแบบเกมสะท้อนแง่คิดนี้ให้กับเขา

เขาตระหนักแล้วว่าผู้พัฒนาเกมนี้คืออัจฉริยะ!

เกมนี้เหมือนจะหยาบคาย โหดร้าย และน่ารังเกียจ แต่ก็เป็นการสะท้อนถึงชีวิตของผู้คนไม่ใช่เหรอ

ในชีวิตจริง ผู้พัฒนาเกมมากมายต้องตรากตรำลำบาก มีใครบ้างที่ไม่เคยโดนหัวเราะเยาะเย้ยมาก่อนที่จะประสบความสำเร็จ

บางคนเหนื่อยจนหนีออกจากวงการไปเงียบๆ

บางคนมุ่งเดินต่อไปข้างหน้า ไม่ลืมเป้าหมายในตอนแรกเริ่ม

บางคนทิ้งอุดมการณ์ไป แล้วกลายไปเป็นตัวตนในแบบที่น่ารังเกียจที่สุดของตัวเอง…

ทุกแง่คิดถูกนำเสนอในเกมนี้ มีแค่คนที่มีมุมมองลึกซึ้งเท่านั้นที่จะตระหนักถึงเรื่องนี้!

เกมนี้ก็เหมือนชาคุณภาพสูงถ้วยหนึ่ง

ยกจิบครั้งแรกอาจจะขม

แต่พอผ่านไปสักพักก็จะได้รสหวาน

หลังจากได้ลิ้มรสชาตินี้ก็จะตระหนักว่ามันก็เหมือนกับชีวิตที่ผกผันอยู่ตลอด

ถึงชาจะหมดถ้วยไปแล้ว แต่รสชาติยังฝังอยู่มิรู้ลืม

เฉียวเหลียงนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ในใจอัดแน่นไปด้วยความรู้สึกมากมาย

“สรุปแล้ว ฉันโทษบอสเผยไปผิดๆ…

“คนที่สร้างเกมแบบนี้ขึ้นมาจะเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้นได้ยังไง

“ฉันต้องทำคลิปใหม่อีกคลิป!”

เฉียวเหลียงเปิดเว็บฟานฉูขึ้นมาอีกครั้ง

เขามองคลิปสองแถวที่แบ่งเป็นคลิปซีรีส์ ‘สับเละเกมกาก’ กับซีรีส์ ‘แนะนำเกมใหม่ประจำเดือน’

เฉียวเหลียงนึกลังเล ทั้งสองซีรีส์ไม่มีอันไหนเหมาะเลย

หลังจากครุ่นคิดอยู่พักใหญ่ เขาก็สร้างซีรีส์ใหม่ขึ้นมา

“ผลงานเทพสร้าง!”

 …………

ขาดทุนไม่อั้น ขอแค่ฉันได้เป็นเศรษฐี

ขาดทุนไม่อั้น ขอแค่ฉันได้เป็นเศรษฐี

ขาดทุนไม่อั้น ขอแค่ฉันได้เป็นเศรษฐี
Status: Ongoing
เผยเชียนย้อนเวลากลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน โดยมีระบบสั่งให้เขาตั้งบริษัทอะไรก็ได้เพื่อหาเงินทำกำไรโดยจะมีการประเมินกำไรขาดทุนเป็นรอบๆ แต่เผยเชียนเป็นคนหัวหมอ เขาดูแล้วว่าถ้าเขาทำธุรกิจได้กำไร เขาจะได้ส่วนแบ่งเข้ากระเป๋าตัวเองแค่ 1:100 แต่ถ้าเขาขาดทุน เขาจะได้ส่วนแบ่ง 1:1 เขาจึงคิดจะตั้งบริษัทเกม และหาทางทำให้บริษัทขาดทุน ด้วยการสร้างเกมที่ไม่น่าจะฮิตบ้างล่ะ ขายเกมราคาถูกบ้างล่ะ เอาเงินไปละลายกับการเช่าตึกและซื้ออุปกรณ์ทำงานต่างๆ บ้างล่ะ แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่ขาดทุนสักที เกมที่คิดว่าไม่น่าจะขายได้ก็ดันขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ทำไมการทำธุรกิจให้ขาดทุนมันถึงเป็นเรื่องยากขนาดนี้ล่ะเนี่ย?!

Comment

Options

not work with dark mode
Reset